“คนเห็นแก่เงิน คบยาก

คนเห็นแก่งาน คบง่าย

คนเห็นแก่ผู้อื่น คบสบาย”

ผมรับคำสอนพ่อหลวงที่โดนใจนี้ด้วยเกล้าแล้วพินิจพิเคราะห์ ได้ความว่า คนเห็นแก่เงินจะมีพื้นฐานคิดเรื่องผลประโยชน์มากกว่าประโยชน์แก่สังคม ผลประโยชน์นั้น ไม่มากที่พวกพ้อง ก็มากที่ตนเองเป็นหลัก ที่จริงก็อาจคบง่ายถ้าคุณเป็นพวกเขาหรือไม่ก็ยอมรับได้กับส่วนแบ่งที่น้อยกว่าที่ควรจะได้ ประโยชน์อย่างหนึ่งของคนที่รู้ไม่เท่าทันนายทุนหรือคนฉลาดกว่าคือ มีความสุขได้ง่ายๆ เพราะไม่รู้ว่าถูกเอาเปรียบ ถ้ารู้เท่าทันก็จะคิดว่าคนนั้นคบยาก โลกเราเป็นเหรียญสองด้านเสมอ

คนเห็นแก่งาน จะมีความสุขที่ได้ทำงานไม่ว่าจะสำเร็จหรือไม่ก็ตาม ผมขอยกตัวอย่าง ภาพยนต์เรื่องหนึ่งที่แม่ทัพจะยกทัพไปตีเมืองหนึ่ง เขาคิดว่าเขาอยากรบเพื่อให้ได้มาซึ่งบัลลังก์ แต่ผมคิดว่าเขาคงมีความสุขที่ได้รบแล้วหละ แม้จะตายในสงคราม ก็เป็นชาตินักรบนี่ คนแบบนี้มีโอกาสสร้างสรรค์งานได้มากมายนัก จะดีมีประโยชน์แก่สังคมหรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่ง และมีแนวโน้มจะดูแคลนคนที่รักความบันเทิงในชีวิต เพื่อนผมคนหนึ่งชอบไปเดินห้างสรรพสินค้าสังเกตความต้องการผู้มาชอปปิ้ง เพื่อมาคิดสร้างธุรกิจดูดเงินคนเหล่านี้ ช่างเป็นนักล่ามนุษย์วัตถุนิยมโดยแท้ แต่คนเห็นแก่งานในที่นี้ ถ้าคิดในแง่บวก คงหมายถึงคนที่ทำงานเพื่อให้งานสัมฤทธิ์ผล ก็แค่นั้น

คนเห็นแก่คนอื่น ใช่แล้วครับ น่ารักที่สุดเลยคนกลุ่มนี้ แต่มีข้อแม้ว่าถ้าคุณไม่ใช่คนที่เห็นแก่คนอื่นเหมือนเขา อย่าริอาจไปทำธุรกิจร่วมหัวจมท้ายกับเขานะ คงหงุดหงิดน่าดู ไม่ใช่มูลนิธินะนาย จะเจ๊งเอาไหมเนี่ย แล้วเราจะรับประทานอะไร ทำให้คนอื่น คนอื่นก็ไม่เห็นทำให้เราบ้าง ความคิดประมาณนี้จะเข้ามาในหัวคุณเลยหละ ผมสรุปให้ว่า เพราะบารมีคุณไม่ถึงพวกเขานั่นเอง มารเลยมาถึงคุณ ให้กลับไปคบคนประเภทแรกจะทำให้คุณประสบความสำเร็จในโลกแห่งความเป็นจริงได้ดีกว่าครับ ซึ่งผมเรียกโลกความเป็นจริงนี้ว่า “โลกแห่งความทุกข์”

สรุป จงคบคนให้ถูกจริต เช่น อยากคบคนดี ก็ทำตัวให้ดีก่อน เป็นต้น