ผมขอเรียกองค์กรที่เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรมในระดับหนึ่ง ซึ่งหากได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่หรือมากกว่าที่เป็นอยู่ ก็จะได้มีโอกาสเพิ่มขีดความสามารถได้อีกมากโขว่า “องค์กรนวัตกรรมแบบสุกๆดิบๆ” เสมือนมีวาวน้ำ ท่อก็พร้อม แต่ไม่รู้เป็นยังไงถึงเปิดน้ำแบบกั๊กๆ … เรามาลองดูกันว่าจะมีลักษณะประมาณไหน

– มีความร่วมมือเกิดขึ้นเป็นประจำภายในทีมงานหรือหน่วยงาน แต่จะเกิดขึ้นระหว่างทีมงานหรือหน่วยงานก็ต่อเมื่อมีการร้องขอความช่วยเหลือ
– พนักงานสามารถร้องขอสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับการทำงานจากทีมงานอื่นในระดับเดียวกันหรือต่ำกว่าข้ามหน่วยงาน โดยปราศจากความเป็นลำดับชั้น แต่สำหรับระดับที่สูงกว่า ข้อมูลข่าวสารจะต้องถูกถ่ายทอดข้ามหน่วยงานอย่างเป็นลำดับชั้น พนักงานสามารถสื่อสารโดยอิสระและโดยตรงกับทีมงานอื่นภายในหน่วยงานเดียวกันเมื่อพบว่ามีปัญหาเกิดขึ้น พูดง่ายๆคือ เหมือนจะเอื้อเรื่องข้อมูลข่าวสาร แต่เอาเข้าจริงก็มีข้อจำกัดที่ติดขัด
– พนักงานมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวขัองกับงานเป็นบางครั้ง บางกระบวนการต้องได้รับอนุญาตเสียก่อน มุมมองของทุกคนได้รับการแบ่งปัน แต่ผู้นำจะยอมรับเฉพาะแนวคิดที่ไม่ขัดกับแนวคิดของตนเท่านั้น
– อนุญาตให้มีการแลกเปลี่ยนไอเดียระหว่างพนักงาน แต่ไอเดียที่ขัดแย้งกัน มักจะไม่ได้รับการยอมรับ มุมมองที่ต่างกันอาจนำไปสู่ความขัดแย้งในบางครั้ง
– มีความชัดเจนเล็กน้อยของบริษัทที่สัมพันธ์กับการสร้างนวัตกรรม ทิศทางของบริษัทได้รับการสื่อสารอย่างไม่มีประสิทธิภาพแก่พนักงาน พนักงานบางคนไม่ทราบและไม่เข้าใจในวิสัยทัศน์องค์กร
– บริษัทมีการบริหารการเปลี่ยนแปลงที่เป็นระบบบ้างแล้ว แต่ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นด้วยความรวดเร็วในระดับปานกลาง และมีพนักงานบางคนยอมรับการเปลี่ยนแปลงในบริษัทได้บ้าง
– บริษัทมีการบริหารความเสี่ยงที่เป็นระบบแต่ขาดประสิทธิภาพ ฝ่ายบริหารสนับสนุนพนักงานในการสร้างนวัตกรรมที่มีความเสี่ยงต่ำ  โดยสามารถยอมรับข้อผิดพลาดที่เกิดจากการสร้างนวัตกรรมได้ในระดับหนึ่งหรือไม่อาจยอมรับได้เลย
– บริษัทมีการส่งเสริมการยกระดับความคิดแบบดั้งเดิมในบางครั้งและสร้างไอเดียใหม่ อย่างไรก็ตาม โอกาสในการสร้างนวัตกรรมเกิดขึ้นเป็นบางครั้งโดยขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้บริหารระดับสูง แนวทางการแก้ปัญหามาจากการหารือกันระหว่างพนักงานและผู้นำ
– บริษัทกำหนดเป้าหมายได้ไม่ดีเพียงพอ สามารถไปถึงเป้าหมายได้ในทิศทางเดียวกัน แต่อาจพบปัญหาได้บ่อยครั้ง
– พนักงานสามารถสร้างโครงการนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับงานประจำในเวลาทำงานก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากหัวหน้างาน นอกจากนั้น พนักงานยังสามารถปรับเวลาในการดำเนินโครงการได้ตามมุมมองของหัวหน้างาน หรือนวัตกรรมได้รับการตระหนักว่าเป็นส่วนเสริมของงาน บริษัทกำหนดให้มีเวลาเพิ่มเติมจากช่วงเวลาปกติสำหรับการสร้างนวัตกรรม แต่ไม่อนุญาตให้ทำในเวลางานปกติ
– บริษัทมีเกณฑ์ที่เป็นระบบแต่ไม่มีประสิทธิภาพ หรือกำหนดกรรมการเฉพาะกิจในการคัดเลือกไอเดียเชิงนวัตกรรมก่อนการจัดสรรงบประมาณบางส่วนสำหรับเริ่มต้นโครงการเพื่อทดสอบไอเดีย และพบว่าไม่ค่อยมีการจัดสรรแก่การสร้างนวัตกรรม